วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ใบงานที่ 3 ขอบข่ายและประเภทของโครงงาน


ขอบข่ายของโครงงาน
            ขอบข่ายของโครงงาน การดำเนินงานโดยมีนักเรียนเป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ และครูอาจารย์เป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษา สรุปได้ดังนี้คือ
            1. เป็นกิจกรรมการศึกษาที่ให้นักเรียนศึกษา ค้นคว้า ปฏิบัติด้วยตนเอง โดยอาศัยหลักวิชาการทางทฤษฎีตามเนื้อหาโครงงานนั้นๆ หรือจากประสบการณ์ และกิจกรรมต่างๆ ที่ได้พบเห็นมาแล้ว
            2. นักเรียนทุกคนเป็นผู้พิจารณาจัดทำโครงงานด้วยตนเอง หรือกลุ่ม จำนวน 2-8 คน ต่อกลุ่ม โดยใช้ระยะเวลาสั้นๆ เป็นภาคเรียน หรือมากกว่าก็ได้
            3.  นักเรียนเป็นผู้พิจารณาริเริ่มสร้างสรรค์ คัดเลือกโครงงานที่จะศึกษาค้นคว้า ปฏิบัติด้วยตนเองตามความถนัด สนใจและความพร้อม
            4.  นักเรียนเป็นผู้เสนอโครงงาน รายละเอียดของโครงงานแผนปฏิบัติงาน และแปรผลรายงานต่อครูอาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อดำเนินงานร่วมกันให้บรรลุตาจุดหมายที่กำหนด
            5. เป็นโครงงานที่เหมาะสมกับความรู้ ความสามารถของนักเรียนตามวัยและสติปัญญา รวมทั้งการใช้จ่ายเงินดำเนินงานด้วย
 
โครงงานประเภทต่างๆ
            การแบ่งประเภทของโครงงานมีหลายวิธี เช่น แบ่งตามหมวดวิชาการงานและอาชีพในโรงเรียน เช่น โครงงานเกษตรกรรม โครงงานคหกรรม โครงงานอุตสาหกรรม โครงงานวิทยาศาสตร์   เป็นต้น และจากขอบข่ายโครงงานดังกล่าว จะเห็นได้ว่านักเรียนเป็นผู้ดำเนินงาน โดยได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน และนักเรียนลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ทั้งด้านการเสนอโครงงาน ขั้นตอนการปฏิบัติงาน ตลอดจนทำแผนปฏิบัติการ และรายงานผลตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ ทำให้สามารถแยกประเภทของโครงงานได้ 4 ประเภท ดังนี้คือ
            1. ประเภทพัฒนาผลงาน
            2. ประเภทศึกษา ค้นคว้า ทดลอง
            3. ประเภทสิ่งประดิษฐ์
4. ประเภทสำรวจข้อมูล
1. ประเภทพัฒนาผลงาน
โครงงานนี้เป็นโครงงานที่เกิดจากการได้ศึกษาเนื้อหาทางวิชาการและอาชีพ หรือวิชาสามัญต่างๆ แล้วนำมาปรับปรุงและพัฒนาให้สอดคล้องกับแนวทางทฤษฎีหรือหลักวิชาดังกล่าว เช่น เมื่อได้ศึกษาเรื่องสมุนไพร ก็อาจทำโครงงานการใช้ยาปราบศัตรูพืชด้วยพืชสมุนไพร กำจัดเพลี้ย หนอน ฯลฯ เมื่อได้ศึกษาเรื่องถนอมอาหาร ก็อาจทำโครงงานแปรรูปผลผลิต เช่น การทำผักดอง ทำไส้กรอก ฯลฯ เมื่อได้ศึกษาเรื่องการเลี้ยงปลา ก็อาจทำโครงงานการเลี้ยงปลาสวยงาม การทำตู้ปลาจำหน่าย ฯลฯ เมื่อได้ศึกษาเรื่องการปลูกผักกางมุ้งก็อาจทำโครงงานปลูกผักกาดหัว ผักคะน้า ผักกาดขาว และผักบุ้งจีนเป็นต้น
2. โครงงานประเภทศึกษาค้นคว้า ทดลอง
            โครงงานนี้เป็นโครงงานที่เกิดขึ้นจากการศึกษาค้นคว้า ทดลอง เพื่อยืนยันทฤษฎีหรือหลักการที่ได้ศึกษามาแล้ว หรือต้องการทราบแนวทาง เพิ่มคุณค่าและการใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น เช่น
            - การศึกษาสูตรอาหารไก่ตอน
            - การทดลองปลูกพืชในน้ำยา หรือโดยไม่ใช้ดิน
- การศึกษาสีย้อมผ้าจากพืชสมุนไพร
            - การใช้ฮอร์โมนกับกิ่งกุหลาบ
- การใช้ฮอร์โมนในการผสมเทียมปลาดุก


3. โครงงานประเภทสร้างสิ่งประดิษฐ์
            โครงงานประเภทนี้ เป็นโครงงานที่เกิดขึ้นหลังจากได้ศึกษาทฤษฎี หรือพบเห็นผลงานของผู้อื่นมาแล้ว เกิดความคิดสร้างสรรค์ที่จะพัฒนาต่อไป จึงประดิษฐ์คิดค้นให้สามารถใช้ประโยชน์ ได้ดียิ่งขึ้น หรือเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย  เช่น
            - การประดิษฐ์หัวฉีดพ่นน้ำในแปลงปลูกผัก
            - การประดิษฐ์ของชำร่วย
            - การประดิษฐ์เครื่องบำบัดน้ำเสีย
            - การประดิษฐ์เครื่องเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ
            - การประดิษฐ์ของใช้จากเศษวัสดุ


4. โครงงานประเภทสำรวจข้อมูล
            โครงงานประเภทนี้เป็นโครงงานที่ได้ศึกษาและสำรวจข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาปรับปรุงหรือส่งเสริมให้ผลผลิตหรือผลงานมีคุณภาพ หรือคุณค่ามากยิ่งขึ้น เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์มากยิ่งขึ้น เช่น
- การสำรวจราคาพืชผักในตลาดท้องถิ่น
- การสำรวจราคาปลาสวยงามในตลาดท้องถิ่น
- การสำรวจความต้องการปลาสวยงามในตลาดท้องถิ่น
- การสำรวจความต้องการพืชผักต่างๆ ในตลาดท้องถิ่น
- การสำรวจแหล่งวิชาการและสถานประกอบการในท้องถิ่น
- การสำรวจแหล่งความรู้ของเกษตรกรในท้องถิ่น






สืบค้นเมื่อ : วันจันทร์ ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น